สำหรับหลายคน บั้งไฟพญานาคที่จังหวัดหนองคายยังเป็นความลี้ลับที่หาคำตอบไม่ได้ พญานาคในบึงนั้นมีจริงหรือไม่ และปรากฏในแต่ละครั้งแต่ละปีเพื่อพ่นไฟถวายเป็นพุทธบูชาจริงหรือไม่
นายแพทย์มนัส กนกศิลป์ เป็นผู้ติดตามและใฝ่หาคำอธิบายอย่างเป็นวิทยาศาสตร์มานานปี เล่าว่าปรากฏการณ์นี้ความแตกต่างจากบั้งไฟยโสธร เพราะบั้งไฟยโสธรเป็นพลุที่ชาวบ้านสร้างขึ้นเองและจุดขึ้นไป ในขณะที่บั้งไฟพญานาคมีลักษณะเหมือนลูกไฟสีแดงคล้ายทับทิมหรือสีแดงออกชมพูขนาดเท่ากับไข่ไก่หรือผลส้ม พุ่งขึ้นจากลุ่มแม่น้ำโขงในช่วง ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑ หรือวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นประมาณ ๑๒๐ ปีมาแล้ว ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นพญานาคจริงๆ ที่บั้งไฟถวายเป็นพุทธบูชา
ปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในวันออกพรรษาอย่างที่เข้าใจกัน แต่เกิดขึ้นปีละ ๓-๗ วัน โดยทั้งในห้วงเวลาและจังหวะที่เกิดมีความสัมพันธ์กับปริมาณออกซิเจน ออกซิเจนวัดได้ในลุ่มแม่น้ำบริเวณเหนือผิวน้ำจะมีปริมาณตั้งแต่ ๒๒% ขึ้นไปทั้งนั้น ข้อมูลนี้ได้จากนักวิจัยที่ตรวจสอบปริมาณออกซิเจนทุก ๓ ชั่วโมงขึ้นไป รวมทั้งสิ้นประมาณ ๑๒,๐๐๐ ครั้ง พบว่าใน ๔๐๐-๖๐๐ ครั้ง จะได้ออกซิเจนตั้งแต่ ๒๒% ขึ้นไป
ปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคจะเกิดขึ้นในเงื่อนไขนั้น นอกจากนั้นยังพบว่า ปรากฏการณ์นี้จะเกิดในช่วงที่โลกขยับเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ในฤดูร้อน คือช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม เมื่อเงื่อนไขสองประการเกิดขึ้นพร้อมกันเราจึงจะเห็นบั้งไฟพญานาคอันสวยงาม
ปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคจึงไม่ใช่สิ่งที่เหนือธรรมชาติเพียงแต่ว่าเรายังไม่สามารถอธิบายถึงการเพิ่มเปอร์เซ็นต์ออกซิเจนได้อย่างเป็นระบบเท่านั้นเอง ตำนานบั้งไฟพญานาคยังเป็นความท้าทายทั้งทางวิทยาศาสตร์และตำนานความเชื่อ
แต่ถึงแม้ว่าวิทยาศาสตร์จะอธิบายปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคที่หนองคายได้อย่างน่าเชื่อก็ตาม ความเชื่อในฐานวัฒนธรรมเดิมก็กลับมีคุณค่าอย่างคาดไม่ถึง
ผลข้างเคียงในเชิงบวกจากปรากฏการณ์นี้คือ ความเชื่อและวัฒนธรรมเดิมนั้นทำให้ชาวบ้านพิทักษ์รักษาสภาพแวดล้อมในบริเวณนั้นอย่างได้ผล ไม่ว่าผู้เกี่ยวข้องจะเข้าใจในคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์หรือไม่ก็ตาม กลายเป็นว่าความเชื่อในพญานาคเป็นฉนวนป้องกันการที่ความเจริญแผนใหม่จะเข้ามาทำลายล้างหรือเปลี่ยนสภาพความเป็นไปในท้องถิ่นอย่างรุนแรง ความเชื่อในวัฒนธรรมท้องถิ่นทำให้บั้งไฟกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการพิทักษ์สภาพแวดล้อมไปได้อย่างน่าทึ่ง
สมดุจระหว่างวิทยาศาสตร์กับวัฒนธรรมจึงสำคัญเหลือเกิน |