ลูกเปรียบเสมือนแก้วตาดวงใจของพ่อแม่ แต่ประเด็นที่เป็นกังวลของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์เมื่อตอนอายุมาก คือ การตั้งครรภ์เมื่อตอนอายุมากจะทำให้ลูกปัญญาอ่อน นี่คือความเชื่อหรือความจริงในทางการแพทย์
นพ.สุรศักดิ์ อังสุวัฒนา หน่วยงานวางแผนครอบครัว โรงพยาบาลศิริราช อธิบายว่าผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ตอนอายุมากนั้น ลูกที่คลอดออกมามีความเสี่ยงค่อนข้างสูงต่อภาวะปัญญาอ่อนนั้น เป็นเรื่องจริง ปัญญาอ่อนชนิดนี้เรียกว่า โรคดาวน์ซินโดรม (down syndrome) โรคนี้เกิดจากเด็กได้รับโครโมโซมจากแม่เกินมา 1 ข้าง ซึ่งตามปกติเด็กจะรับโครโมโซมมาจากแม่ครึ่งหนึ่งและจากพ่อครึ่งหนึ่งเท่าๆกัน แต่ในกรณีที่แม่มีอายุมากอาจจะเกิดความผิดปกติในการแบ่งของเซลล์ไข่ทำให้ไข่ของแม่มีโครโมโซมหรือมีกรรมพันธุ์เกินมา 1 ข้าง
ถามต่อว่าการตั้งครรภ์ตอนอายุมากนั้นผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ต้องมีอายุกี่ปีจึงจะมีความเสี่ยง คำตอบคือผู้หญิงที่อายุเกิน 35 ปี ถือว่าเป็นกรณีการตั้งครรภ์เมื่ออายุมาก ซึ่งโอกาสที่ลูกเกิดมาแล้วเป็น โรคดาวน์ซินโดรมมีมากหรือน้อยแค่ไหนนั้น ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผู้หญิงที่มีอายุ 35 ปี โอกาสที่เด็กจะเป็นโรคดาวน์ซินโดรม มีอยู่ประมาณ 1 ใน 350 สำหรับวิธีป้องกันคือควรตั้งครรภ์ตอนอายุยังน้อย แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้และตั้งครรภ์ตอนอายุมากควรตรวจครรภ์ก่อนที่จะคลอด คือจะต้องตรวจน้ำคร่ำตอนอายุครรภ์ประมาณ 4 เดือน โดยแพทย์จะใช้เข็มฉีดยาเจาะและดูดน้ำคร่ำบริเวณหน้าท้อง ซึ่งจะมีเซลล์ของเด็กอยู่ เพื่อตรวจสอบดูว่ามีโครโมโซมที่ผิดปกติหรือไม่ ถ้ามีโครโมโวมที่ผิดปกติ แม่ก็คงต้องยินยอมที่จะยุติการตั้งครรภ์
TIPS
การเจาะตรวจน้ำคร่ำเป็นการตรวจหาความผิดปกติของทารกในครรภ์ที่นิยมทำกัน โดยเฉพาะในหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุมากคือ 35 ปีขึ้นไป เราสามารถเจาะดูดเอาเซลล์ของทารกที่หลุดลอกลอยแขวนอยู่ในน้ำคร่ำ มาเพาะเลี้ยง แล้วมาศึกษาดูโครโมโซม เพื่อจะค้นหาความผิดปกติของทารกในครรภ์ การเจาะจะกระทำได้ก็เมื่อตั้งครรภ์ได้ประมาณ 4 เดือน แล้วน่ามาเข้ากระบวนการทางห้องปฏิบัติการภายใน 2 สัปดาห์ก็จะทราบถึงผลการศึกษา |